ผู้ใหญ่บ้าน Hamburg

someone in Hamburg who try to be expert in something

Archive for the ‘research’ Category

ข้อมูลของ Control Engineering Practice

leave a comment »

พอดีได้อ่านบทความของ Control Engineering Practice (CEP) เล่ม 17 (2009) ฉบับ
1 เรื่อง Feedback on the status of Control Engineering Practice ซึ่งมีเรื่องราว
น่าสนใจให้กล่าวถึง เลยเขียนบันทึกซะหน่อย

วารสารนี้พึ่งมีอายุได้แค่ 16 ปีเท่านั้นโดยที่ออกปีหนึ่ง 12 ฉบับ และเป็นคู่แข่งโดยตรงกับ
IEEE Transactions on Control Systems Technology (CST) ซึ่งมีอายุเท่ากันพอดี
แต่อันหลังนั้นออกแค่ปีละ 6 ฉบับ
CEP นั้นจะลงได้ยากกว่า CST อยู่เยอะเหมือนกันเพราะ
กฎข้อแรกในการตีพิมพ์นั้นต้องมีผลการทดลองจริง จะเป็นแค่ผลจำลองการทำงานบนเครื่อง
คอมพิวเตอร์นั้นไม่ได้ ซึ่งแค่นี้งานหลาย ๆ งานก็ไม่สามารถตีพิมพ์ลงในวารสารนี้ได้แล้ว
(ในสาขาวิศวกรรมระบบควบคุมนั้น การทำการทดลองจริงกับการจำลองการทำงานบนเครื่อง
คอมพิวเตอร์นั้นยากกว่ากันหลายเท่าตัวนัก) แต่กลายเป็นว่าค่า Impact Factor ของ CEP
นั้นอยู่ที่ 1.263 ในขณะที่ของ  CST นั้นอยู่ที่ 1.278 ซึ่งตัวเลขที่ว่านี้ไม่น่าแปลกใจนัก
เพราะเมื่อก่อนฐานข้อมูล Science Direct นั้นแพร่หลายสู้ IEEE ไม่ได้ นอกจากนั้นใน
หมู่คนทั่วไปย่อมรู้จักวารสารของ IEEE มากกว่า การอ้างอิงก็ต้องมากกว่าด้วย ปัจจุบันนั้น
เปลี่ยนไปเยอะ ฐานข้อมูลของ Science Direct นั้นดีกว่า IEEE Explore มาก ๆ โดย
เฉพาะเรื่องการเชื่อมโยงไปยังวารสารอื่น ๆ ทั้งในและนอกฐานข้อมูล ยิ่งมีฐานข้อมูล
SCOPUS เข้ามาเสริมแล้วยิ่งทิ้งห่างมาก ๆ เพราะยิ่งมีการเชื่อมโยงมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีการ
อ้างอิงมากขึ้นเท่านั้น ตัวเลขนี้ไม่ได้ใช้ความรู้สึกในการตัดสินแต่ดูได้จากบทความข้างต้น
ที่กล่าวว่าเมื่อปี 2005 นั้น CEP มีค่า Impact Factor แค่ 0.53 เท่านั้น แต่ในระยะเวลา
เพียงแค่ไม่กี่ปีตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นไปสูงถึง 1.278 ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 16 จาก 52 ในหมวด
Automation and Control Systems

เรามาดูความยากในการตีพิมพ์ลงใน CEP (ผมมีแผนว่าจะส่งไปลงกลางปีหน้า) ค่าเฉลี่ย
ในการรับพิจารณาบทความจะอยู่ที่ 75% ก่อนที่จะถูกส่งให้กรรมการตรวจสอบ ซึ่งกว่า
จะรูปผลการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญก็กินเวลาประมาณ 4 เดือน หลังจากการตรวจแก้
บทความกว่าจะได้ตีพิมพ์ก็ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย ยากน่าดูเหมือนกัน


Written by tsvhh

พฤศจิกายน 8, 2008 at 3:59 pm

เขียนใน research, Uncategorized

Tagged with ,

จัดอันดับประชุมวิชาการ

with one comment

ในวงวิชาการเรื่องวารสารไหนดี ไม่ดี ตอนนี้มีดัชนีชี้วัดแล้ว แล้วประชุมวิชาการหล่ะ หลายคนบอกว่าระดับ
ของประชุมวิชาการนั้นเทียบไม่ได้กับการตีพิมพ์ในวารสาร บางที่ยอมให้สามประชุมวิชาการเท่ากับหนึ่ง
วารสาร

ระดับของประชุมวิชาการการนั้นถ้าบอกว่า พวก Workshop ประชุมวิชาการที่ส่งบทคัดย่อแล้วรับเลย นั้น
ดูเหมือนจะไม่มีความหมาย ถ้าพูดภาษาวงวิชาการก็คือ ไม่นับแต้ม มีอาจารย์หลายคนที่รู้จักบอกว่าที่
อังกฤษ(แกเป็นอาจารย์อยู่ที่นั่น) ถ้าพูดถึงผลงานของอาจารย์ก็จะนับแต่ตีพิมพ์ลงในวารสารเท่านั้น อย่าง
นี้ยุติธรรมหรือเปล่า

เราลองมาดูตัวเลขความยากง่ายเหล่านี้ดูนะครับ

  1. EECON30 ปีที่ผ่านมา มีบทความส่งเข้าไป 426 บทความ และได้รับการตอบรับ 334 บทความ
    คิดง่าย ๆ ก็มีบทความที่ถูกปฏิเสธ 21.6 % นับว่าไม่เลวทีเดียวกับความยาก
  2. MSC 2007 (IEEE Multi-conference on Systems and Control) มีบทความที่ส่ง
    808 บทความ และได้รับการตอบรับ 432 บทความ นั่นคือถูกปฏิเสธไป 47 % จะเห็นว่ายากกว่า
    EECON 30 ถึงสองเท่า
  3. The 6th IEEE International Conference on Control and Automation (ICCA2007) มีคนส่งบทความ 1221 บทความ ตอบรับ 660 บทความ 46% ถูกปฏิเสธ
  4. The 15th Mediterranean Conference on Control and Automation (MED’07)
    มีคนส่ง 415 บทความ และได้รับการตอบรับถึง 323 บทความ นับว่าไล่เลี่ยกับ EECON 30
  5. The 2007 American Control Conference (ACC) มีส่งมากถึง 1788 บทความ และ
    ได้รับการตอบรับถึง 1142 บทความ (แสดงให้เห็นความใหญ่โตของงาน) ถูกปฏิเสธไป 36%
  6. The 45th IEEE Conference on Decision and Control (CDC 2006) มีคนส่ง
    1920 บทความ และรับเพียง 1081 บทความหรือ 56% เท่านั้น (ปฏิเสธไป 44%) 

จำนวนคนส่งคนถูกปฏิเสธนั้น น่าจะวัดความมีชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของประชุมวิชาการนั้น ๆ ได้
เป็นอย่างดี อย่าง The 17th IFAC World Congress 2008 มีคนส่งถึงสามพันกว่าบทความ น่า
จะถูกปฏิเสธไปประมาณ 35% (คาดการณ์)

หลัง ๆ เราจะเห็นว่าประชุมวิชาการใหญ่ ๆ ปัจจุบันสามารถรับคนได้มากขึ้น ไม่งั้นจำนวนบทความที่
ถูกปฏิเสธก็จะมากกว่า 50 % ด้วยข้อจำกัดของสถานที่ แต่จริง ๆ แล้วคุณภาพของบทความดีเพียง
พอก็เพราะมีรูปแบบการนำเสนอใหม่คือ Interactive poster ซึ่งระดับนั้นเทียบเท่ากันกับ Oral
presentation มาตรฐานการตอบรับหรือปฏิเสธใช้มาตรฐานเดียวกัน (บางประชุมวิชาการระดับตรงนี้
จะไม่เท่ากัน)

ถ้าจะสรุปง่าย ๆ ก็จะพบว่าประชุมวิชาการใหญ่ ๆ ระดับโลกเหล่านี้ จะมีเปอร์เซ็นต์การปฏิเสธที่สูงมาก
(เพื่อนที่นั่งทำงานข้าง ๆ ซึ่งใหม่ในวงการ ถามว่าประชุมวิชาการเขามีปฏิเสธบทความด้วยเหรอ เห็นส่ง
ไปห่วยอย่างไรก็รับหมด) ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าความยากนั้นบางทียากกว่า การส่งไปยังวารสารหลาย
ๆ อันเสียอีก ผมว่าไม่นานการพิจารณาผลงานของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไทยอาจจะเริ่มกำหนดเป็น
ลายลักษณ์อักษรแล้วว่าประชุมวิชาการไหนนับแต้ม อันไหนไม่นับ

Written by tsvhh

มีนาคม 14, 2008 at 12:18 pm

เขียนใน ขำ, blog, research

การกลับมายิ่งใหญ่ของจุฬาฯ

with one comment

ผมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับจุฬาฯ เพียงแต่รู้สึกชื่นชมชมรมนี้ ชมรมนักประดิษฐ์วิศวกรรม ชมรมนี้
ก่อตั้งเมื่อปี 2002 เองนะครับ แต่กวาดแชมป์ประเทศไทยในการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับต่าง ๆ มาก
มาย เมื่อก่อนก็เป็นใหญ่ในประเภทหุ่นยนต์เตะฟุตบอลขนาดเล็ก และในการแข่งขัน robocup
2007 นั้นได้เป็นถึงรองแชมป์โลก แพ้แชมป์แบบหวุดหวิดสุด ๆ สำหรับเวทีในประเทศทีมนี้ก็กำลัง
จะกวาดสามแชมป์ คว้าไปแล้วสอง จากยานยนต์ไร้คนขับ และที่ผิดความคาดหมายพึ่งคว้าแชมป์
ไปสด ๆ คือหุ่นกู้ภัย ที่สามารถโค่นเจ้าตลาดเดิมอย่างพระนครเหนือ หรือหอการค้าไปได้ ส่วนต้น
ปีซึ่งเป็นการแข่งขัน robocup ก็น่าจะเป็นแชมป์ได้ไม่ยาก แต่อาจจะหืดจับหน่อยสำหรับปีนี้
เพราะทีมอื่น ๆ ก็มีการพัฒนาเหมือนกัน

ผมแอบสังเกตมานานแล้ครับ พบว่าทีมนี้มีพัฒนาการที่ค่อนข้างสูงในระยะเวลาอันสั้น กล่าวคือ
หลังจากผ่านรอบแรกไปแล้ว ทีมนี้จะมีการพัฒนาไปจากทีมที่ผ่านรอบแรก ซึ่งโดยปกติแล้วเป็น
เรื่องที่ทำได้ยากพอสมควรทีเดียว

ขอชื่นชมกับความสำเร็จครับ

Written by tsvhh

ธันวาคม 5, 2007 at 10:34 pm

เขียนใน สังคม, research

ย้อนกลับ

leave a comment »

ช่วงนี้อ่าน paper เป็นบ้าเป็นหลัง โดยจับจุดอยู่เพียงเรื่องเดียว พอถึงขั้นที่จะเปลี่ยนจากความรู้ที่
ได้รับไปเป็นความเข้าใจว่ามาได้อย่างไร ปรากฎว่าโน่นก็ขาดนี่ก็ขาด ย้อนไปย้อนมาก็กลับไปที่จุด
เริ่มต้นที่เดิม ในหนังเรื่อง proof พ่อของนางเอกก็พูดกับนางเอกว่า “กี่ครั้งแล้วที่เราต้องย้อนกลับ
ไปที่จุดเริ่มต้น”

Written by tsvhh

มิถุนายน 4, 2007 at 7:19 pm

เขียนใน ส่วนตัว, Mathematic, research

MathWorks.com มีอะไรมากกว่าที่คิด (ตอนที่ 1)

leave a comment »

ท่ามกลางกระแสการแข่งขันของโปรแกรมคำนวณเชิงเลขที่มี MATLAB เป็นเจ้าตลาดอยู่ โดยมีคู่
แข่งทั้งโปรแกรมเชิงสัญลักษณ์พวก Maple, Mathematica ฯลฯ และโปรแกรมฟรี ๆ อย่าง
Octave
และตัวสำคัญคือ SciLab ซึ่งตัวหลังนั้นมาแรง ฟรี และมีผู้สนับสนุนชั้นดีอย่างรัฐบาล
ฝรั่งเศสการแข่งขันของบริษัทเหล่านี้นั้นไม่ได้ทำเฉพาะการพัฒนาตัวสินค้าให้ดีขึ้น รองรับงานที่
กว้างมากขึ้น พวกเขายังพยายามสร้างชุมชนให้มากขึ้นด้วย เท่าที่สัมผัสชุมชนของ mathworks
เจ้าของ MATLAB นั้นค่อนข้างจะได้เปรียบอยู่มาก ซึ่งจะพูดถึงทีหลัง ตอนนี้เราลองมาดูทาง Mathematica กันก่อน

สำหรับเจ้านี้เกิดจากนักคณิตศาสตร์นามกระเดื่องชื่อ Stephen Wolfram ผู้สร้างวิทยาศาสตร์สาขาใหม่ เกิดปี 1959 ณ กรุงลอนดอน มีผลงานตีพิมพ์ตั้งแต่อายุ 15 ขวบ และจบปริญญาเอกที่
Caltech ในสาขาทฤษฎีฟิสิกส์เมื่ออายุได้ 20 ปี เขาได้เริ่มใช้คอมพิวเตอร์ในปี 1973 หนึ่งปีหลัง
จากผมลืมตาดูโลก (ผมเริ่มรู้จักคอมพิวเตอร์ครั้งแรกตอน ป. 4 คิดว่าอายุประมาณ 9 ขวบ) ผล
งานที่สำคัญของเขาที่ใช้เวลามากกว่าสิบปี ก็คือหนังสือหนา 1200 หน้าเชื่อว่า A New
Kind of Science
ซึ่งตีพิมพ์ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2545 ซึ่งยังต้องรอการ
พิสูจน์จากนักวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์อยู่ เอาเป็นว่าขอข้ามเรื่องประวัติและ
ความเก่งกาจของคนผู้นี้ไปก่อน โดยจะไปพูดถึงสิ่งที่ทำให้ผมยังยึดติดอยู่กับ
Mathematica ถึงแม้ปัจจุบันจะไม่มีโอกาสได้ใช้อีกเลย นับจากปี 1999 สิ่ง
ที่พูดถึงคือ Wolfram MathWorld เนื่องจากงานส่วนหนึ่งต้องเกี่ยวกับ
คณิตศาสตร์เพื่อให้เข้าใจทฤษฎีทางคณิตศาสตร์บางตัว ซึ่งคำจำกัดความของ
คำเฉพาะต่าง ๆ มักจากแวะเวียนเข้ามาให้หาความหมายและทำความเข้าใจอยู่เนือง ๆ เว็บไซต์ที่ให้
ความรู้อันนี้ก็คือแหล่งอ้างอิงชั้นดี ถึงแม้คำอธิบายจะไม่เหมาะสำหรับคนทั่วไปเท่าใดนัก แต่ก็เพียง
พอที่จะทำให้รู้ว่าคำเหล่านั้นมันคืออะไร เว็บนี้สร้างโดย Eric Weisstein ที่ Wolfram
Research
นอกจาก MathWorld แล้ว ยังมีเว็บอีกหลายอันนะครับที่สนับสนุนโดย Wolfram
ที่ผมเคยใช้และได้คำตอบทำให้มีการบ้านส่ง ก็เว็บ Integrals.wolfram.com

The Integrator

ซึ่งเว็บนี้จะหาคำตอบของการอินทิเกรตฟังก์ชันแปลก ๆ ให้คุณได้ทั้งหมดแล้วกัน สำหรับผู้ที่ชอบ
ค้นหาประวัตินักคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ดาราศาสตร์ รวมไปถึงเนื้อหาในสาขาวิชาข้างต้น (รวม
MathWorld ด้วย) คุณ Eric ก็ได้มอบเว็บ Scienceworld เป็นของขวัญต่อชาวโลก (ประวัติ
ของนักคณิตศาสตร์ที่มีละเอียดสู้ที่ MacTutor History of Mathematics ไม่ได้)

เราจะเห็นได้ว่าบริษัทที่เกิดขึ้นโดยบุคคลที่หลงใหลในงานของตัวเองมักจะมีอะไรกลับให้สังคมบ้าง
เสมอ คราวหน้าจะมาดูกันว่าทางฝั่ง mathworks มีอะไรกลับให้สู่สังคมบ้าง

 

Written by tsvhh

เมษายน 6, 2007 at 8:01 pm

เขียนใน Mathematic, research

Thai กับฐานข้อมูลระดับโลก

leave a comment »

สิ่งหนึ่งที่หลายคนไม่รู้ หลายคนยังหลงอยู่ว่าเราน้อยหน้ากว่าเค้า จริง ๆ เรื่องสนับสนุน
การศึกษาด้านการลงทุน ชาติไทยเป็นชาติหนึ่งที่ลงทุนพอสมควรทีเดียวครับ จำได้ว่า
เมื่อก่อน
IEEE/IET Electronic Library สมัยเป็นอาจารย์ใหม่ ๆ จะพิมพ์ออกมาเนี่ย
ต้องวิ่งไปห้องสมุด ไปค้นก่อน ถ้าจะเอาตัวเต็มก็ต้องไปเลือกแผ่น CD แล้วก็เปิดดูแล้ว
ก็พิมพ์ สมัยก่อนนั้นพิมพ์แพงมาก ตอนหลังก็ลดมาเหลือห้าสิบสตางค์ ฐานข้อมูลในรูป
CD นั้น ทางมหาวิทยาลัยต้องซื้อมาในราคาแพง ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบบอกคนอื่นให้ไป
ใช้ไปค้น คนลงทุนเขาจะได้สนใจลงทุนต่อไป

หลังจากนั้นก็มาสู่ยุคของอินเทอร์เน็ต ฐานข้อมูลทางสื่อใหม่นี้ในรูปแบบของ pdf ก็เริ่ม
เป็นที่นิยม เครื่องพิมพ์แบบ postscript เริ่มเข้าหูมากขึ้นเรื่อย ๆ (สิบปีก่อน) และแล้วฝัน
ของคนวิจัยก็เป็นจริง เมื่อมีหน่วยงานรัฐบาลยอมลงทุนสมัครสมาชิกฐานข้อมูลข้างต้นให้
ใช้กันทุกมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเครือ UniNet จำไม่ได้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรเหมือนกัน รู้แต่
ว่าส่วนหนึ่งมาจาก อาจารย์ท่านหนึ่งเข้าไปบริหารห้องสมุด และนับจากนั้นห้องสมุดของ
มหาวิทยาลัยก็เข้าสู่ยุครุ่งเรือง จะว่าไปอธิการบดีและผู้บริหารชุดนั้น รวมไปถึงรัฐบาลด้วย
ก็น่าจะได้รับคำชมบ้าง

ที่น่ายินดีมากกว่านั้นหน่วยงานดังกล่าวก็ได้สมัครเป็นสมาชิกรายปีของฐานข้อมูลระดับ
โลกต่ออีกหลายรายการ เช่น Science Direct, ACM ฯลฯ ในปัจจุบันผมจะถูกเพื่อน
อาจารย์ร้องขอให้โหลดเอกสารให้อยู่เนือง ๆ

ที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นเพราะมีเหตุ พอดีเป็นช่วงต่อสัญญาการใช้งาน IEEE ของเมืองไทย ใน
ขณะที่ TUHH บอกเป็นสมาชิกแบบฟรีชั่วคราว เพื่อน ๆ ตื่นเต้นกันใหญ่ ผมบอกว่าเมือง
ไทยมีให้โหลดมาหลายปีแล้ว เพื่อนก็บอกว่าทำไมประเทศพวกฉันไม่มีบ้างวะ ก็บอกว่า
ประเทศฉันมันจน (อาจารย์เคยบอกว่าประเทศยูรวยมากนะ ถึงทำอย่างนั้นได้) ก็เลยต่อ
รองของลดราคาซื้อทีเดียวใช้ได้ทั้งประเทศมั้ง เพื่อนชาวยุโรปยากจนก็สวนกลับมาว่า
ประเทศฉันก็จนไม่เห็นมีบ้างเลย นี่เป็นเรื่องดี ๆ ที่บ้างเมืองเราทำให้คนในชาติ

อีกสาเหตุหนึ่งก็คือท่านรมต. กระทรวงไอซีที ไฟแรงเหลือเกิน กลัวว่าจะติดโรคไปถึง
กระทรวงอื่น ๆ แล้วเงินที่ไปลงทุนเรื่องพวกนี้จะโดนยกเลิก แต่วันนี้เบาใจได้แล้วครับ
เพราะมันกลับมาใช้ได้เหมือนเดิมแล้ว FoxyProxy ของผมก็ถูกปรับให้มาใช้งานเต็มที่อีก
ครับ ยังไงก็ขอขอบคุณไว้แล้วกัน

Written by tsvhh

พฤศจิกายน 17, 2006 at 9:38 pm

เขียนใน สังคม, research

Microsoft SyncToy for Windows XP

with one comment

image007.jpg

การ Backup ข้อมูลนั้นเป็นงานที่จำเป็นมาก และน่าเบื่อมากด้วย ด้วยความสามารถของ
อุปกรณ์ที่เคลื่อนย้ายได้เช่น USB movable harddisks ที่เร็วขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็
ทำให้งานเหล่านี้ง่ายขึ้น แต่ด้วยความใหญ่ ถึงแม้จะเร็วแค่ไหนก็กินเวลาเป็นชั่วโมงอยู่ดี
ทั้งนี้เพราะถ้าเราใช้วิธีง่าย ๆ เช่น copy แฟ้มข้อมูลโดยตรง มันย่อมต้องมีการซ้ำซ้อน และ
เสียเวลาอย่างมาก บางไฟล์ไม่มีการแก้ไขเลย หรือบางทีมีการเปลี่ยนชื่อไป เมื่อสร้าง
สำเนาในอุปกรณ์ที่ใช้สำรองข้อมูลก็จะมีไฟล์เดียวกันสองไฟล์แต่มีชื่อต่างกัน ท้ายที่สุดแล้ว
ข้อมูลในอุปกรณ์สำรองของมูลก็จะใหญ่กว่าข้อมูลจริงมากโข

บางคนก็ใช้วิธีสร้างสำเนาลงไปในที่ใหม่ แล้วลบของเก่า ซึ่งก็กินเวลามากและเป็นไปได้
ยาก ทั้งนี้เพราะโดยทั่วไปแล้วสิ่งที่เราต้องการสำรองก็มีขนาดใหญ่มาก ๆ คงมีไม่กี่คนที่
จะใช้ Harddisk ตัวใหญ่เป็นตัวสำรองข้อมูล ในขณะที่ใช้ตัวที่แย่กว่าเป็นตัวที่ใช้ในการ
ทำงาน ด้วยแนวคิดอย่างนี้ผมจึงเก็บข้อมูลเฉพาะที่จำเป็นลงในอุปกรณ์สำรองข้อมูลเท่านั้น

งานดังกล่าวข้างต้นนั้นง่ายขึ้นมาก เมื่อผมรู้จักเจ้า SyncToy (มีมานานแล้วแต่พึ่งมีปัญหา)
การสำรองข้อมูลใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่นาที แทนที่จะเป็นชั่วโมงเหมือนแต่ก่อน การใช้งาน
ก็ง่ายดาย ตัวโปรแกรมมีการอธิบายสั้น ๆ ได้ใจความ ไปลองหามาใช้ดูนะครับ

Written by tsvhh

สิงหาคม 18, 2006 at 2:24 pm

เขียนใน ส่วนตัว, blog, research

เพื่อนแท้ในยามยาก

leave a comment »

https://i0.wp.com/www.copernic.com/en/products/desktop-search/prerelease/images-2/screenshots/cds2-screenshot-all-big.jpg 

Copernic Desktop Search เป็นโปรแกรมเพื่อนแท้ในยามยากของผม มันใช้งานได้ดี
เสมอมา หลายคนอาจจะไม่รู้จักมัน เพราะไปใช้ Google Desktop Search หรือ MSN 
Desktop Search กัน เพราะชื่อชั้นและชื่อเสียงดีกว่าหลายขุม ผมเคยลองแล้วทั้งสองตัว
ปรากฎว่านอกจากจะทำให้เครื่องช้าซะเปล่า ๆ แล้วยังทำงานได้ไม่น่าประทับใจเอาซะเลย
โดยเฉพาะการค้นหาคำใน pdf ไฟล์ ซึ่งเรา ๆ จะประสบปัญหานี้เมื่อมีการเก็บเอกสารอิเล็ก-
ทรอนิกส์จำนวนมาก โดยไม่ได้มีการจัดเก็บ หรือในกรณีที่เราเขียนรายงานชิ้นเล็ก ๆ เก็บไว้
หลาย ๆ ที่แล้วไม่ได้มีการบันทึกไว้ในฐานข้อมูลดีพอ อาศัยการจดการจำเอาภายในส่วนลึก
ของกีบสมองและก็ต้องกลับไปยืนตรงจุดเริ่มต้นใหม่ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง (ยืม proof มา) กล่าว
คือพูดว่าช่างมันเถอะอ่านเอาใหม่ก็ได้

หลายคนเคยแนะนำให้ใช้ log book แต่นั่นแหละการพิมพ์เป็น pdf ย่อมทำให้การเก็บบันทึก
ดีกว่าและอ่านง่ายกว่า (ส่วนใหญ่จะมานั่งงงกับลายมือตัวเอง ว่าเขียนอะไร) นอกจากนั้นผล
ของการ Simulation นั้นเมื่อไปพิมพ์และเอาไปแปะไว้ใน log book ก็ไม่ได้เรื่อง สู้พิมพ์ทั้ง
รหัสโปรแกรมและผลลงใน pdf ไฟล์ไปเลยดีกว่า ใจใช้ใหม่ก็ลอกมาก็ได้ การทำอย่างนั้น
เมื่อก่อนจะมีปัญหาค่อนข้างมากนะครับ ตั้งแต่เจ้าจานเก็บข้อมูลแบบแข็งมีความจุสูงมากขึ้น
การค้นหาอะไรต่อมิอะไรก็ใช้เวลานานมาก โดยเฉพาะไฟล์เอกสาร แต่ะสำหรับ Copernic
นั้นเราเพียงให้โอกาสมันสร้างดัชนีการค้นหา ซึ่งปกติจะเริ่มทำเมื่อเราไม่ได้ใช้งานเครื่องเป็น
เวลาสองนาที มันก็จะอาศัยช่วงเวลาทองในการสร้างดัชนี รอจนกระทั้งมันสร้างเสร็จชีวิต
ของคุณก็จะง่ายขึ้นมาทีเดียว เพราะเราสามารถค้นหาไฟล์ อีเมล ที่บรรจุคำที่เราค้นได้ สำหรับ
pdf มันยังมีตัว preview ให้ หรือเราจะกดเรียกตัวจริงมาดูก็ได้

วันนี้นั่งค้นงานเก่าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน เคยทำรายงานไว้เมื่อหลายเดือนก่อน ไม่รู้เก็บ
ไว้ในแฟ้มไหน ก็ได้เจ้านี่แหละครับช่วยเอาไว้ ใช้งานก็ง่าย ตัว filter ก็ใช้งานได้เลยไม่ต้อง
ไปหาอะไรมาเติมเต็มให้ยุ่งยาก ที่สำหรับมีเวอร์ชันฟรีซึ่งถึงแม้ความสามารถจะจำกัดแต่ก็
มากเกินพอ อีกทั้งยังเล็กดีรสโตด้วย ไว้รวยเมื่อไหร่ก็จะสนับสนุนเค้าบ้างแหละ

Written by tsvhh

สิงหาคม 16, 2006 at 4:03 pm

เขียนใน blog, research

The Golay-Rudin-Shapiro Sequence

with one comment

id:A020985 – OEIS Search Results

วันนี้ต้องเขียนโปรแกรมสร้างลำดับของตัวเลขตาม link ข้างบน โดยมีสูตรง่าย ๆ ว่า

a_0 =1, a_{2n} = a_n, \ a_{2n+1} = (-1)^na_n

เขียนเป็น MATLAB code ได้ตามข้างล่าง ต้องการเฉพาะค่าตัวสุดท้าย ซึ่งจริง ๆ
ควรจะเขียนให้กระชับกว่านี้ แต่พรุ่งนี้ต้องส่งงาน เผา ๆ ไปก่อน

% rudin_sign(k)
function rx = rudin_sign(n)
% —————————————-
se = [];

for i = 1:n+1,
k = i-1;
if k == 0
se(i) = 1;
elseif ~(mod(k,2))
se(i) = se(fix(k/2) + 1);
elseif (mod(k,2))
se(i) = (-1)^((k-1)/2)*se((k-1)/2 + 1);
end
end
rx = se(length(se));

Blogged with Flock

Written by tsvhh

กรกฎาคม 10, 2006 at 5:03 pm

เขียนใน research

อาจารย์ที่ชอบ

with one comment

EEE Research Profile – Dr PA Cook

พูดถึงบรรดาอาจารย์ที่ผมชอบมากที่สุด คงเป็นคนนี้ เป็นคนหนึ่งที่สอนหนังสือไม่รู้เรื่อง
แต่มีความสามารถมากทางด้านคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับระบบควบคุม ปัจจุบันก็ยังไม่
ได้เป็น Reader (รศ.) อยู่นั่นแหละ ก็แกสอนไม่รู้เรื่อง ใครจะอยากไปทำงานกับแก เมื่อ
ไม่มีนักศึกษาทำงานด้วย การที่จะผลิตผลงานวิชาการให้ได้นั้นก็ยาก เท่าที่ดูแกจะชอบ
ทำงานคนเดียว

แต่ปีเตอร์ก็เป็นคนที่ผมชอบ สองครั้งที่ผมถามคำถามที่เพื่อน ๆ ไม่มีใครตอบได้ แล้วทำ
ใจกล้าไปถามแก (จริง ๆ แล้วแกใจดีมาก ๆ) ครั้งแรกเกี่ยวกับกราฟที่เขียนเฉพาะส่วน
ครั้งที่สองเกี่ยวกับสมการยาก ๆ ที่แกไม่ให้มาแต่จำเป็นต้องใช้ ทุกครั้งแกก็จะตอบว่า

“อ้าว นี่เธอไม่รู้เหรอ” แล้วก็กระโดดทำมือทำไม้หนึ่งครั้ง ก่อนจะตอบสูตรยาก ๆ แบบไม่
ต้องดูโพย

technorati tags:

Blogged with Flock

Written by tsvhh

กรกฎาคม 7, 2006 at 5:11 pm

เขียนใน blog, research